23 กรกฎาคม 2556


บี้ศาลรัฐธรรมนูญปมสมาชิกภาพมาร์ค 
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
          เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงว่าได้เตรียมยื่นหนังสือต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทวงถามความคืบหน้าต่อการพิจารณาคดีถอดถอนสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องให้ถอดสมาชิกภาพ ตามที่กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งถอดยศนายทหารของนายอภิสิทธิ์ ทั้งนี้การถอดยศดังกล่าวถือเป็นเหตุที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 102 ที่ว่าด้วยบุคคลที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ ห้ามไม่ให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
          ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษก ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไป เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้เป็นอิสระของศาล การกดดันด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ดี อยากให้นพ.เหวงหัดปล่อยวางบ้าง ส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอป่านนี้คดีคงเสร็จตามความประสงค์ของ นพ.เหวงไปนานแล้ว.
ปชป.รุกกลับ "ธาริต-เฉลิม" ฟ้องอาญา 44 คดีพ่วงป.ป.ช. 
ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
             
          ASTVผู้จัดการรายวัน - ปชป.ให้บทเรียน "ธาริต"เดินหน้าฟ้องศาลอาญา 44 คดี พ่วงร้อง ป.ป.ช.-ศาลปกครอง ฟัน "เหลิม" นั่งประธานดีเอสไอ ดันคดีเงินบริจาคพรรค เป็นคดีพิเศษ จี้ดีเอสไอ ยุติสอบคดี หลังกกต.การันตีส.ส.บริจาคเงินเข้าพรรคไม่ผิด
          วานนี้ (18 ก.ค.) เวลา 11.10 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษก และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีมติให้ยุติการพิจารณาคดีการหักบัญชีเงินเดือน ส.ส. เพื่อบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า คดีนี้ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจสอบ และเมื่อ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบโดยตรงสั่งยุติคดีนี้แล้ว นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ควรยุติที่จะพิจารณาคดีนี้ ไม่ควรดันทุรังสอบต่อเพื่อเอาใจใครบางคน เพราะผลกรรมก็จะตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ต้องเลือกระหว่างความถูกต้องหรือจะเลือกเข้าคุก ตนอยากให้นายธาริต เรียกพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในคดีนี้มาประชุมร่วมกันและอ่านหลักธรรมาภิบาล เรื่องหลักคุณธรรม และนิติธรรมให้ทุกคนฟัง เพื่อที่คนอ่านจะได้สำนึกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องด้วยหลักกฎหมายและขัดต่อหลักนิติธรรม สวนทางคำขวัญของดีเอสไอว่า ต้องดูแลความสุขของคนไทย ด้วยหลักนิติธรรม
          "พรรคประชาธิปัตย์ จะเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดีกับ นายธาริต ทั้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลอาญา และศาลปกครอง โดย จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นายธาริต และ พ.ต.อ.นิรันดร์อดุลยาศักดิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หาก ป.ป.ช.พบว่า มีความผิดจะมีโทษทั้งจำและปรับ ที่สำคัญจะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วย จากนั้น 44 ส.ส.ของพรรค ที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ จะแยกกันยื่นฟ้องนายธาริต ต่อศาลอาญา และจะยื่นฟ้องคณะกรรมการคดีพิเศษที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในขณะที่เป็นอดีตรองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการดีเอสไอ ต่อศาลปกครอง แม้ว่า ร.ต.อ.เฉลิมจะอ้างว่าไม่ได้ร่วมลงมติให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ แต่เรามีหลักฐานชัดว่า ร.ต.อ.เฉลิม นั่งเป็นประธานในการประชุมครั้งนั้นด้วย ดังนั้น หลังจากนี้ไป นายธาริตจะต้องขึ้นศาลอีกหลายคดี" นายราเมศ กล่าว
          ด้านนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับ นายบัญญัติบรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อให้สอบสวน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการหักบัญชีเงินเดือนของ ส.ส.บริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า นายบัญญัติ เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง เห็นว่า การกระทำของ ส.ส.ไม่ผิดกฎหมายจึงควรจะชะลอเรื่องการร้องต่อ ป.ป.ช.เอาไว้ก่อนเพราะถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ และจะทำหนังสือแจ้งข้อมูลใหม่นี้ ไปยังประธานคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้ถูกโยกไปเป็น รมว.แรงงานแล้ว โดยการทำหนังสือดังกล่าวจะขอให้ประธานคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ยกเลิกมติการให้คดีเงินบริจาคเป็นคดีพิเศษ แต่หากประธานฯ คนใหม่ ยังไม่ดำเนินการใดๆ นายบัญญัติ ก็จะยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

05 มกราคม 2555

ประชาธิปัตย์เปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย



มติชน ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตั้งแต่เวลา12.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคมเป็นต้นไปพรรค ปชป.จะเปิดศูนย์ให้คำปรึกษากับชาวบ้านและนักธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากการชุมนุม เพราะเห็นว่าศูนย์ที่รัฐบาลจัดตั้งอาจให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง โดยจะให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย 3 กรณี 1.ความเสียหายในคดีอาญา กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสามารถไปขอรับค่าตอบแทนจากกรมคุ้มครองสิทธิกระทรวงยุติธรรม 2.ความเสียหายในคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับอาญา สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาล โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่จะต้องยื่นก่อนสืบพยาน และ 3.ความเสียหายทางแพ่งสามารถยื่นต่อศาลได้โดยตรง โดยติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ เบอร์ 0-2270-0036 หรือทนายราเมศ รัตนะเชวง 08-6666-6792 และทนายสัญญา จันทร์รัตน์ 08-5163-6677

07 กรกฎาคม 2554

ปชป ตอบโต้ จาตุรนต์ ฉายแสง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง ได้แถลงข่าวตอบโต้
ประเด็นกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้กล่าวว่า
ที่คุณชวน บอกว่า ส.ส. ปัจจุบันซื้อเสียงเกินกว่าครึ่ง แผ่นเสียงตกร่องตลอด ถ้าประชาธิปัตย์ได้เสียงเกินครึ่งเมื่อไหร่คุณชวน คงพูดใหม่ว่า ส.ส. ซื้อเสียงเกือบครึ่ง แต่ที่ไม่ได้พูดซักทีเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยได้เสียงมากๆอย่างนั้น คุณชวน ถนัดหาเสียงด้วยวิธีพูดแบบนี้มาหลายสิบปีไม่มีเปลี่ยนและที่ไม่เปลี่ยนเลยคือพูดเรื่องนโยบายและปฏิรูปไม่เป็นเลยตามไม่ทันประชาชน

ขอเรียนว่า ผม นายราเมศ รัตนะเชวง ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปร่วมหาเสียงกับ ท่านชวน ด้วยในวันที่ท่านชวน ปราศรัย ท่านได้ปราศรัยว่า ณ. ช่วง ๗๙ ปี ที่ผ่านมา การเมืองไทยมีการพัฒนาไปอย่างมากประชาชนตื่นตัวมากขึ้น นักการเมืองก็มีความรู้หลากหลายอาชีพ ประเทศได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไม่ด้อยกว่าใครในอาเซียน แต่ในท่ามกลางสิ่งที่พัฒนาขึ้นนั้น ก็มีสิ่งที่เลวร้ายด้วย คือที่มาของนักการเมืองรุ่นก่อน เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ที่อื้อฉาวที่สุด ก็คือการแจกปลาทูเค็มจะไม่มีข่าวเรื่องการซื้อเสียงแต่ ณ. ช่วงหลังนี้ปัญหาทุจริตซื้อเสียงมากขึ้น พูดได้ว่าในสภาผู้แทนมีผู้ที่มาจากการซื้อเสียงเกินครึ่งและเมื่อนักการเมืองมาจากการซื้อเสียงก็จะทุจริตเพื่อหาเงินมาซื้อเสียงต่อไป ซึ่งเกิดวงจรชั่วร้ายขึ้นข่าวเรื่องการทุจริต แต่ในช่วงหลังมีการซื้อเสียงกันมากขึ้น นายชวนยังกล่าวว่าอย่าไปเชื่อว่านักการเมืองเลวหมดทุกคน ทุกวงการมีทั้งคนดีและไม่ดี นายชวนไม่ได้กล่าวว่าเป็นพรรคการเมืองใด ไม่เคยพูดถึงว่าเป็นนักการเมืองของพรรคใด แต่นายชวนพูดตามความจริงที่ท่านได้พบเห็นเพราะท่านเป็น ส.ส. มานานกว่าใครในสภาขณะนี้ พวกที่ซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเมื่อได้ฟังก็ร้อนตัวเป็นเรื่องธรรมดา


คอรัปชั่นจึงเกิดขึ้นมาก นายชวนจึงเรียกร้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศช่วยกันตัดวงจรอุบาทว์นี้ โดยอย่าเลือกคนซื้อเสียงไม่ว่าจะอยู่ในพรรคใดก็ตาม ถ้าพิจารณาดูจากคำพูดหน้านี้ผมไม่เห็นนายชวนได้ระบุบุคคลใดหรือพรรคใดแต่พูดในหลักการของความเป็นจริงซึ่งคนที่ไม่ได้ประพฤติเช่นนี้ก็คงเห็นด้วย แต่คนที่อยู่ในกลุ่มพวกซื้อเสียงก็คงจะไม่ชอบ


ส่วนที่นายจาตุรนต์ กล่าวหาว่านายชวน หาเสียงโดยพูดเรื่องนโยบายและการปฏิรูปไม่เป็นเลยตามไม่ทันประชาชน ขอเรียนว่า นายชวน เป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย เรื่องนโยบายและการปฏิรูปมีมากมายเกินกว่าที่นายจาตุรนต์ จะจดจำได้หมดและนายชวนไม่ได้พูดอย่างทำอีกอย่าง


นโยบายที่นายชวน และพรรคประชาธิปัตย์คิด ไม่ได้เป็นนโยบายที่ฉาบฉวย แต่เป็นนโยบายที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง หลักการคิดเรื่อง ๓ หลักกระจาย ไม่ว่าจะเป็น การกระจายรายได้ กระจายโอกาส และกระจายอำนาจ เป็นแนวทางที่นายชวนใช้ตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐบาลเป็นผลดีต่อบ้านเมืองจนทุกวันนี้ทุกนโยบายที่นายชวนวางไว้เป็นผลดีต่อบ้านเมือง เป็นนโยบายในการปฏิรูปบ้านเมืองทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น


- การกระจายอำนาจให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่คือ อบต.


- การมอบสิทธิการศึกษาพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า ๑๒ ปีแก่เยาวชนไทย


- กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา


-โครงการดื่มนมฟรี


-โครงการเบี้ยยังชีพ


-จัดตั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอทั่วประเทศ


-จัดทำโครงการขยายถนน 4 ช่องทางจราจรไปทั่วทุกภูมิภาคเป็นครั้งแรกไปภาคเหนือ ไปภาคอีสาน ไปภาคตะวันออก และไปภาคใต้ โครงการเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์และได้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศจนถึงปัจจุบัน


และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลนายชวน แทบทั้งสิ้นและมีผลมาถึงปัจจุบัน


โครงการเบี้ยยังชีพ ที่เกิดขึ้นสมัย นายชวน ประชาชนจำได้ แต่แปลกที่นายจาตุรนต์ จำไม่ได้ ตอนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนถึงไม่เพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับพี่น้องประชาชนแม้แต่บาทเดียว เพิ่งมาคิดเกทับเพิ่มให้ตอนหาเสียงช่วงนี้


การปฏิรูปบ้านเมืองนายชวน ยึดถือประชาชนเป็นหลัก ปฏิรูปไปตามกฎหมายบ้านเมืองนโยบายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองยังยั่งยืน นายชวนไม่ทำด้วยวิธีการนอกกฎหมายภาคใต้จึงสงบเรียบร้อยมาลุกเป็นไฟเมื่อรัฐบาลนายจาตุรนต์ ใช้วิธีอุ้มฆ่าเสียหายมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้คนตายไปแล้วกว่า ๔,๔๐๐ คน ถ้ายึดนโยบายนายชวนคือยึดหลักแก้ไขปัญหา ภายใต้กฎหมายปัญหาภาคใต้ก็จะไม่เกิดรุนแรงขึ้นอย่างปัจจุบันนี้ อนึ่ง นโยบายกับการกระทำต้องไปด้วยกันนายชวนยึดนโยบายประชาธิปไตยจึงเคารพกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง ไม่ใช่ปากประชาธิปไตยใจเป็นเผด็จการไม่เคารพวิธีการตามกฎหมาย ในยุคนายชวนจึงไม่เกิดวิกฤติของบ้านเมือง


พรรคประชาธิปัตย์ไม่คิดปฏิรูปการเมืองโดยการออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้กับใคร ไม่คิดปฏิรูปโดยการฆ่าตัดตอนสงสัยใครยิงทิ้งฆ่าทิ้ง นายชวนคิดถึงประชาชนทุกคน จังหวัดทุกจังหวัดอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีนโยบายว่าประชาชนจังหวัดไหนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ จะพัฒนาจังหวัดนั้น


และอยากเตือน นายจาตุรนต์ ด้วยความเป็นห่วงว่า อยากให้พูดความจริงอย่าบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยคำพูด ไม่เช่นนั้นคุณค่าในตัวของนายจาตุรนต์ก็จะหมดลงเรื่อยๆ นายชวนเป็นต้นแบบของนักการเมืองทุกคำพูด ทุกการกระทำ ล้วนแล้วแต่มุ่งไปสู่สิ่งที่ดีที่ถูกต้อง แม้ว่านายจาตุรนต์จะอยู่คนละพรรคแต่การเอาแบบอย่างที่ดีเป็นสิ่งสมควรที่นายจาตุรนต์น่าจะพึงทำ

05 มกราคม 2554

พรรคประชาธิปัตย์สู้คดีนัดแรก





เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้นำทีมทนายความไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ารับฟังการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ถูกร้องจากข้อกล่าวหาเรื่องใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจขัดต่อพ.ร.บ.พรรคการเมือง



ทั้งนี้ เมื่อผู้ถูกร้องได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของผู้ถูกร้องแล้ว จากนั้นศาลจะนัดตรวจพยานในวันพุธที่ 28 กรกฎาคมนี้ และไต่สวนนัดแรก 9 ส.ค.



นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์คณะ ​อ่านกระบวนวีธีพิจารณาคดี ว่ามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 1. กระบวนการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ตามคำร้องอยู่ในบังคับตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 หรือไม่


3. พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี 2548 เป็นไปตามแผนงานที่ขออนุมัติหรือไม่ 4. พรรคประชาธิปัตย์ทำรายการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ​ถูกต้องหรือไม่ 5. กรณีมีเหตุให้ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) ฉบับที่ 27 ซึ่งแก้ไขประกาศคปค. หรือตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 หรือไม่อย่างไร


นอกจากนี้​ ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่าหากต้องการจะขอให้ศาลเรียกพยานหลักฐานที่อยู่ในการครอบครองของบุคคลหรือส่วนราชการเพิ่มเติมก็ขอให้คู่กรณียื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันนัดพร้อม


นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ​กล่าวภายหลัง ว่า​เบื้องต้นพรรคได้เตรียมพยานบุคคลเอาไว้ชี้แจง กว่า 30 ปาก และคงไม่จำเป็นต้องเพิ่มพยานเข้ามาอีก เพราะพยานที่มีอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของกระบวนการดำเนินคดีของ กกต.นั้น ทั้งนี้ มั่นใจว่าพรรคไม่ได้กระทำผิด แต่ก็กำชับให้ทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคทุกคนว่า อย่าได้ประมาท เพราะเรื่องนี้เป็นกรณีที่ กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ เราจึงต้องพยายามนำหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์



ทั้งนี้บรรยากาศในช่วงการหารือวันนัดไต่สวน เดิมศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นทุกวันพุธของสัปดาห์ แต่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานสู้ยุบพรรคได้ขอให้เลื่อนไปพิจารณาในวันจันทร์เนื่องจาก วันอังคารถึงพฤหัสบดี ต้องประชุมสภาฯ​ และต้องพิจารณาคดีการถือครองหุ้นในส่วนของ สส. และ สว.ในวันศุกร์​ ซึ่งทาง ตุลาการฯ และกกต.ในฐานะฝ่ายผู้ร้องไม่ติดใจจึงเลื่นอมาเป็นวันจันทร์​


สำหรับการเดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในส่วนของประชาธิปัตย์ประกอบด้วยนายชวน นายบัณฑิต ศิริพันธ์ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวิรัช ร่มเย็น นายศุภชัย มุตตาหารัช นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานสู้คดียุบพรรค ขณะที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มอบหมายให้นายอรุณ นาคเสน ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหา และข้อโต้แย้งของกกต. และนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ​เป็นตัวแทน